โลตัส จับมือมูลนิธิ SOS ขับเคลื่อน “ธนาคารอาหารแห่งชาติ” มอบพื้นที่เป็นศูนย์เก็บและกระจายอาหารบริจาคเพื่อส่งต่อผู้ด้อยโอกาส
โลตัส ร่วมมือกับ มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ ประเทศไทย (SOS ประเทศไทย) ต่อยอดโครงการกินได้ไม่ทิ้งกัน ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนการก่อตั้งธนาคารอาหารแห่งชาติเพื่อผู้ด้อยโอกาส มอบพื้นที่ส่วนหนึ่งในสาขา โลตัส บ้านฟ้า ลำลูกกา ให้มูลนิธิ SOS ใช้เป็นโกดังจัดเก็บและกระจายอาหารที่ได้รับบริจาคเพื่อส่งต่อชุมชนขาดแคลน ผู้ยากไร้และผู้ด้อยโอกาส เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการอาหารให้รับบริจาคได้ในปริมาณมากขึ้น จัดเก็บในสถานที่ที่เหมาะสม ทำให้สามารถยืดอายุและรักษาคุณภาพอาหารได้ยาวนานขึ้น คงคุณค่าทางโภชนาการ ส่งต่อถึงมือผู้ที่ต้องการอย่างได้ประโยชน์สูงสุด พร้อมเดินหน้าขยายผลโครงการกินได้ไม่ทิ้งกัน เพิ่มพื้นที่บริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดแต่ยังรับประทานได้ให้ผู้ยากไร้ผ่านมูลนิธิ SOS ช่วยเหลือชุมชนและลดขยะอาหารให้เป็นศูนย์
นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความยั่งยืน ธุรกิจโลตัส ประเทศไทย กล่าวว่า “โลตัส ได้ริเริ่มโครงการกินได้ไม่ทิ้งกันตั้งแต่ปี 2560 โดยบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดแต่ยังคงรับประทานได้ให้แก่ผู้ยากไร้ แทนการทิ้งให้กลายเป็นขยะอาหารซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงมูลนิธิ SOS ด้วย ปัจจุบันโลตัสบริจาคอาหารให้ผู้ยากไร้ในโครงการดังกล่าวรวมแล้วกว่า 2,800,000 มื้อ ล่าสุด โลตัสได้ร่วมมือกับมูลนิธิ SOS ในการขับเคลื่อนธนาคารอาหารแห่งชาติ โดยมอบพื้นที่เก็บสินค้าของโลตัส สาขาบ้านฟ้า ลำลูกกา ให้มูลนิธิ SOS ใช้ประโยชน์ในการจัดเก็บอาหารที่ได้รับการบริจาคจากองค์กรต่าง ๆ ทั้งอาหารสดและอาหารแห้ง เพื่อรอการกระจายต่อให้ชุมชนเปราะบางและผู้ด้อยโอกาส โลตัส ในฐานะห้างค้าปลีกที่จำหน่ายอาหารสดคุณภาพสูงที่สะอาด ปลอดภัย มีพื้นที่เก็บสินค้าและระบบการจัดการสินค้าอาหารที่ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยสำหรับการบริโภค การมอบพื้นที่ให้มูลนิธิ SOS จึงจะช่วยเสริมประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการธนาคารอาหารของมูลนิธิให้ดียิ่งขึ้น ขยายขีดความสามารถให้มีศูนย์จัดเก็บอาหารบริจาคในปริมาณมากขึ้น พร้อมตู้ควบคุมอุณหภูมิที่สามารถจัดเก็บอาหารสดและอาหารแห้งได้ยาวนานขึ้น ถูกสุขอนามัยและคงคุณค่าทางโภชนาที่ดีไว้ได้ เพื่อเป็นศูนย์เก็บและกระจายอาหารบริจาคให้ผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ลำลูกกาและบริเวณใกล้เคียง ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยเหลือชุมชนผู้ด้อยโอกาสแล้ว ยังช่วยผลักดันเป้าหมายของเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่จะลดขยะอาหารให้เป็นศูนย์ภายในปีค.ศ. 2030 (Zero food waste to landfill by 2030) อีกด้วย”
นายเจมส์ เลย์สัน กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ ประเทศไทย (มูลนิธิเอสโอเอส) กล่าวว่า “มูลนิธิ SOS บริหารจัดการอาหารส่วนเกินผ่านโครงการรักษ์อาหาร โดยทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการรับบริจาคอาหารและกระจายอาหารส่วนเกินจากภาคการผลิตและภาคธุรกิจที่จำหน่ายไม่หมดแต่ยังคงรับประทานได้ ส่งต่อให้กับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและช่วยลดปริมาณขยะอาหารในประเทศไม่ให้ถูกทิ้งออกไปสู่สิ่งแวดล้อม การร่วมมือกับโลตัสในครั้งนี้จะช่วยให้มูลนิธิ SOS สามารถยกระดับการปฏิบัติภารกิจของเราไปสู่การเป็นธนาคารอาหารแห่งชาติ ขยายการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการอาหาร มีจุดพักรอกระจายอาหารด้วยกระบวนการจัดเก็บที่ได้มาตรฐาน มีการควบคุมอุณหภูมิ ทำให้การเก็บอาหารปลอดภัยและถูกสุขลักษณะมากยิ่งขึ้น ช่วยให้ระบบการขนส่งโลจิสติกส์ของมูลนิธิ SOS ไร้รอยต่อยิ่งขึ้น สามารถส่งอาหารไปให้ผู้ที่ต้องการอาหารที่อยู่ห่างไกลขึ้นได้ ลดการเดินทางของอาหาร ลด carbon footprint เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน”
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลดขยะอาหารในธุรกิจของโลตัส
- ในปี พ.ศ. 2560 โลตัส เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตเจ้าแรกในประเทศไทย ที่เริ่มบริจาคอาหารส่วนเกินที่จำหน่ายไม่หมด ให้ผู้ที่ยากไร้ โดยร่วมมือกับมูลนิธิ SOS ภายใต้โครงการ “กินได้ไม่ทิ้งกัน”
- ภายใต้กรอบการทำงาน Target, Measure, Act โลตัส เป็นธุรกิจแรกในประเทศไทย ที่เริ่มวัดและเปิดเผยปริมาณขยะอาหารภายในธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2562 โดยมีปริมาณขยะอาหาร (food waste absolute tonnage) ลดลงอย่างต่อเนื่องทุก ๆ ปี
- โลตัส บริหารจัดการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ในการลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร
- ต้นน้ำ วางแผนการเพาะปลูกร่วมกับเกษตรกรภายใต้โครงการรับซื้อผลผลิตตรง เพื่อให้เกษตรกรปลูกผักตามปริมาณที่ลูกค้าต้องการ เพื่อไม่ให้เหลืออาหารส่วนเกินและลดปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด, ใช้รถควบคุมอุณหภูมิขนส่งผักและผลไม้ จากแหล่งเพาะปลูกสู่ศูนย์กระจายสินค้าและสาขา ลดการสูญเสียอาหารในระหว่างการขนส่ง
- กลางน้ำ สินค้าป้ายเหลือง ลดราคาสินค้าเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าซื้อสินค้ากลับไปรับประทาน แทนการทิ้งให้เป็นขยะอาหาร, บริจาคอาหารส่วนเกินทั้งแบบที่ยังรับประทานได้ (edible surplus food) และแบบที่รับประทานไม่ได้แล้ว (inedible surplus food) ให้กับมูลนิธิและหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เพิ่มมูลค่า แทนการทิ้งให้เป็นขยะอาหาร
- ปลายน้ำ ร่วมงานกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน สร้างการตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการลดขยะอาหาร ทั้งในธุรกิจและในครัวเรือน
- ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 จนถึงปัจจุบัน โลตัส ได้บริจาคอาหารส่วนเกินที่ยังรับประทานได้ไปแล้วทั้งหมด 2.8 ล้านมื้อ ให้ผู้ยากไร้และมูลนิธิต่าง ๆ