เดินหน้าลดขยะอาหารให้เป็นศูนย์ ต่อยอดโครงการเพาะเลี้ยงแมลงโปรตีน (BSF)
สร้างมูลค่าเพิ่ม ตามแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
โลตัส ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือเบโด้ (BEDO) สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือต่อยอดโครงการเพาะเลี้ยงแมลงโปรตีน (Black Soldier Fly - BSF) สำหรับเป็นอาหารสัตว์ทางการเกษตรเพื่อลดต้นทุนอาหารเลี้ยงสัตว์ให้กับเกษตรกร โดยโลตัส จะบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดจากสาขาเพื่อใช้เป็นอาหารในการเพาะเลี้ยงแมลงโปรตีน เดินหน้าสู่เป้าหมายลดขยะอาหารให้เป็นศูนย์ (Zero Food Waste) ภายในปี ค.ศ. 2030
ดร. อภิรักษ์ เดชวรสิทธิ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานกลยุทธ์และสนับสนุนธุรกิจ โลตัส กล่าวว่า “โลตัส ได้วางแผนงานด้านความยั่งยืนในทุกมิติของการดำเนินธุรกิจค้าปลีก ภายใต้กลยุทธ์ “Vision 2030. Actions every day.” มุ่งเน้นการขับเคลื่อนการดำเนินงานในทุกวัน ครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG) ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมที่โลตัสมุ่งดำเนินการ โดยเรามีเป้าหมายลดขยะอาหารให้เป็นศูนย์ (Zero Food Wase) ภายในปี ค.ศ. 2030 ผ่านการทำงานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ในส่วนของการบริหารจัดการอาหารส่วนเกินที่จำหน่ายไม่หมดในสาขา โลตัส เริ่มดำเนินโครงการ “กินได้ไม่ทิ้งกัน” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 โดยบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดแต่ยังรับประทานได้ให้กับผู้ยากไร้และองค์กรการกุศล ส่วนอาหารที่รับประทานไม่ได้แล้วจะถูกบริจาคเพื่อเป็นอาหารสัตว์ ในปี พ.ศ. 2565 โลตัส ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำร่องโครงการเพาะเลี้ยงแมลงโปรตีน โดยบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมด อาทิ ผัก ผลไม้ อาหารปรุงสำเร็จ ให้เกษตรกรในเครือข่ายมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อใช้เป็นอาหารเพาะเลี้ยงแมลงโปรตีน ซึ่งถือเป็นแมลงเศรษฐกิจ ใช้ทดแทนอาหารสัตว์สำเร็จรูป สามารถช่วยเกษตรกรลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ได้กว่า 50% นอกจากนี้ มูลหนอนและซากแมลง ก็ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ด้วยเช่นกัน จากความสำเร็จของโครงการดังกล่าว โลตัส มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะขยายความร่วมมือกับภาครัฐ โดยลงนามบันทึกข้อตกลงกับ BEDO ขยายผลการถ่ายทอดองค์ความรู้โครงการเพาะเลี้ยงแมลงโปรตีน เพื่อถ่ายทอดความรู้ ขยายเครือข่ายเกษตรกรเพิ่ม นำร่องใน 10 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ศรีสะเกษ อยุธยา ปทุมธานี กาญจนบุรี จันทบุรี สุราษฎร์ธานี และเพชรบูรณ์ ซึ่งมีสาขาของโลตัสทั้งไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต และมินิซูเปอร์มาร์เก็ตตั้งอยู่กว่า 400 สาขา ที่จะมีศักยภาพในการบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดให้กับเครือข่ายเกษตรกร”
นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (สพภ.) กล่าวว่า “ความร่วมมือกับโลตัสในครั้งนี้ สอดคล้องกับพันธกิจของ BEDO ที่มุ่งส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อสร้างรายได้ตามแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ ขับเคลื่อนนวัตกรรมจากผลงานวิจัยไปสู่การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ด้วยการนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนโดยการใช้ชุดความรู้ที่พัฒนาจาก BEDO ร่วมกับภาควิชาการไปพร้อมกัน ซึ่งโครงการเพาะเลี้ยงแมลงโปรตีนของโลตัส นับเป็นโครงการต้นแบบของห้างค้าปลีกในการบริหารจัดการขยะอาหารอย่างยั่งยืน สามารถเพิ่มมูลค่าจากขยะให้กลายเป็นอาหารสัตว์ทางการเกษตร ลดปัญหาการเกิดขยะอาหาร ลดค่าใช้จ่ายและสร้างรายได้ในระดับชุมชุนได้ โดย BEDO จะมีส่วนร่วมขยายผลการถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตแมลงโปรตีนสำหรับเป็นอาหารสัตว์ให้แก่เกษตรกร เพื่อลดต้นทุนการผลิต สร้างรายได้ในระดับชุมชน ขยายเครือข่ายเกษตรกร และให้คำแนะนำในการเลี้ยงแมลงโปรตีนในพื้นที่ต่าง ๆ พร้อมเตรียมขยายผลโครงการเพื่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมต่อไป”
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลดขยะอาหารในธุรกิจของโลตัส
- ในปี พ.ศ. 2560 โลตัส เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตเจ้าแรกในประเทศไทย ที่เริ่มบริจาคอาหารส่วนเกินที่จำหน่ายไม่หมด ให้ผู้ที่ยากไร้ โดยร่วมมือกับมูลนิธิ SOS ภายใต้โครงการ “กินได้ไม่ทิ้งกัน”
- ภายใต้กรอบการทำงาน Target, Measure, Act โลตัส เป็นธุรกิจแรกในประเทศไทย ที่เริ่มวัดและเปิดเผยปริมาณขยะอาหารภายในธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2562 โดยมีปริมาณขยะอาหาร ลดลงอย่างต่อเนื่องทุก ๆ ปี
- โลตัส บริหารจัดการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ในการลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร
- ต้นน้ำ วางแผนการเพาะปลูกร่วมกับเกษตรกรภายใต้โครงการรับซื้อผลผลิตตรง เพื่อให้เกษตรกรปลูกผักตามปริมาณที่ลูกค้าต้องการ เพื่อไม่ให้เหลืออาหารส่วนเกินและลดปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด, ใช้รถควบคุมอุณหภูมิขนส่งผักและผลไม้ จากแหล่งเพาะปลูกสู่ศูนย์กระจายสินค้าและสาขา ลดการสูญเสียอาหารในระหว่างการขนส่ง
- กลางน้ำ สินค้าป้ายเหลือง ลดราคาสินค้าเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าซื้อสินค้ากลับไปรับประทาน แทนการทิ้งให้เป็นขยะอาหาร, บริจาคอาหารส่วนเกินทั้งแบบที่ยังรับประทานได้ (edible surplus food) และแบบที่รับประทานไม่ได้แล้ว (inedible surplus food) ให้กับมูลนิธิและหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เพิ่มมูลค่า แทนการทิ้งให้เป็นขยะอาหาร
- ปลายน้ำ ร่วมงานกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน สร้างการตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการลดขยะอาหาร ทั้งในธุรกิจและในครัวเรือน
- ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 จนถึงปัจจุบัน โลตัส ได้บริจาคอาหารส่วนเกินที่ยังรับประทานได้ไปแล้วทั้งหมด 2.87 ล้านมื้อ ให้ผู้ยากไร้และมูลนิธิต่าง ๆ